ขณะที่เทคโนโลยี่การสื่อสารพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม และขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการที่คนจำนวนไม่น้อย ได้รู้จักกับคนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และได้มีโอกาสมาพบเจอคนที่เคยเรียน เคยทำงานด้วยกันมาก่อน เช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ที่สามารถติดต่อถึงคุณได้ไม่ว่าคุณจะยินดีหรือไม่ก็ตาม ผมเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารกับสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกคุกคาม ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

Short Message Service (SMS)

สำหรับคุณที่เคยผ่านช่วงการใช้ SMS ติดต่อสื่อสารโดยการส่งข้อความแทนการโทรศัพท์พูดคุยในบางโอกาส หรือหลาย ๆ โอกาส คงพอจะนึกออกว่า การได้ยินเสียงเตือนของการแจ้งว่ามีข้อความเข้านั้น ทำให้เราต้องหยิบโทรศัพท์มาเปิดอ่านข้อความ เพราะอาจเป็นข้อความจากหน้าที่การงาน คนในครอบครัว หรือเพื่อน ที่มีต้องการส่งข้อความถึงกัน

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน คุณกลับพบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คุณเสียเงินซื้อมา กับค่าบริการที่คุณต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น คุณไม่สามารถใช้ช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านการรับส่งข้อความ SMS ได้เหมือนก่อนแล้ว ด้วยเพราะว่า ทุกครั้งที่มีเสียงเตือนนั้น กลับกลายเป็นเสียงเตือนของข้อความที่สร้างความรำคาญใจซะมากกว่า เพราะเป็นข้อความที่ส่งมาโฆษณาขายสินค้า บริการต่าง  ๆ ที่คุณเองถูกบังคับให้เปิดอ่าน ถูกยัดเยียดให้รับรู้

ข้อความเหล่านี้ ถูกส่งมาจากใคร? และทำไมถึงมีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคุณ? คุณรู้หรือไม่ว่า นอกจากที่คุณจะต้องได้รับข้อความจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คุณใช้บริการ พร้อมกับเหล่าบรรดาบริษัทในเครือ และบริษัทคู่ค้าพันธมิตรของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เองแล้ว คุณยังต้องได้รับข้อความจากบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ธนาคาร, บัตรเครดิต, ประกัน ฯลฯ ที่เขาได้ข้อมูลส่วนตัวของคุณจากการ “ซื้อ” มาจากแหล่งสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่คุณสมัครหรือเป็นลูกค้าของเขา ประกอบกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เองก็ร่วมมือด้วยการขายบริการส่งข้อความผ่าน SMS ในราคาถูก ทำให้บริษัทเหล่านี้ สามารถส่งข้อความไปหาคนจำนวนมาก และส่งบ่อยมาก จนกลายเป็นขยะ SMS ไปในที่สุด ส่งผลให้คุณเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับเสียงเตือนเมื่อมีข้อความเข้ามา สุดท้ายกลายเป็นว่าคุณอาจพลาดที่จะได้อ่านข้อความที่ถูกส่งมาอย่างที่ควรจะเป็น แล้วคุณก็ไม่สามารถยึดถือช่องทางการสื่อสารนี้ได้อีกต่อไป ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกคุกคามมานาน

Chat ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

หลังจากหมดยุคความนิยมของ SMS ที่ถูกลดบทความความสำคัญไปและถูกแทนที่ด้วยโปรแกรม chat ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ช่องทางการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นค่าย BlackBerry ที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาก่อน ต่อมาก็มีโปรแกรม chat ต่าง ๆ ทั้งบน iPhone และ Android ที่กำลังมาแรงมากอย่าง Tango และ Line ที่ต่างก็พัฒนาขีดความสามารถและขยายจำนวนผู้ใช้ในแนวกว้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Line ที่เดิมเคยใช้ได้เพียงเฉพาะบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่ขณะนี้สามารถใช้บนคอมพิวเตอร์ร่วมกันกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แล้ว

และเนื่องจากการต้องการขยายจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น Line จึงพยายามเชื่อมโยงผู้ใช้ของเขาเข้าด้วยกันให้มากขึ้น โดยเริ่มจากการค้นหาจากสมุดโทรศัพท์ (Contact) ของคุณก่อน  ซึ่งในจุดนี้ อาจมองดูได้ทั้งการช่วยเพิ่มความสะดวกในการติดต่อให้กับคุณ แต่ก็สามารถมองได้อีกมุมหนึ่งว่าเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของคุณ เพราะขณะเดียวกัน Line เองก็นำ ID ของคุณไปเปิดเผยกับผู้ใช้รายอื่นที่มีหมายเลขโทรศัพท์ของคุณ แต่ตรงนี้ยังไม่ร้ายกาจเท่ากับการที่นำไปเปิดเผยกับผู้ใช้อื่น ๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคุณเลยแม้แต่น้อย ดังที่คุณจะเห็นได้ว่า คุณเองก็ได้รับข้อความจากผู้คนเหล่านั้น และขณะนี้ไม่ใช่แค่เพียงข้อความแล้ว แต่ยังเป็นการส่งโฆษณามารบกวนคุณอีกด้วย นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของสิทธิส่วนบุคคลที่ถูกคุกคาม

 

Social Network

หากพูดถึง Social Network คนส่วนมากจะพูดถึง facebook และผมก็ยังเชื่ออีกว่า ผู้ใช้ facebook ส่วนมาก ยังรู้จักการใช้เพียงผิวเผิน ที่เข้าใจเพียงว่า อยากจะแบ่งปันเรื่องราวของเราให้กับเพื่อน ๆ และคนรู้จักเท่านั้น แล้วก็อยากเก็บความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไว้บนอินเทอร์เน็ต ที่สามารถจะบันทึกการเปลี่ยนแปลง และเรียกมาดูเมื่อไรก็ได้ หรือบางกลุ่มก็เริ่มเรียนรู้การใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการทำร้านค้าขนาดเล็กบนอินเทอร์เน็ต

แน่นอน facebook  ก็มีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต่างกันที่ย่อมต้องการขยายจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น ที่นอกเหนือจากจะพัฒนารูปแบบการใช้แล้ว ยังเปิดให้ผู้พัฒนาโปรแกรมอื่น ๆ เช่นเกม ที่มีไว้เล่นบน facebook แล้วก็เชื่อมโยงข้อมูลของผู้เล่นเข้าด้วยกัน และนำไปเผยแพร่ต่อ ดังที่คุณจะเห็นได้ว่า อ้อ! เพื่อนคุณก็เล่มเกมนี้ด้วยเหมือนกัน แต่นี่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่คลาสสิกเท่ากับที่อยู่ดี ๆ ก็มีใครจากไหนไม่รู้ ที่ส่งข้อความมาหาคุณได้ และรู้ข้อมูลส่วนตัวคุณ ทั้งนี้จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าที่คุณกำหนดไว้ ซึ่งผู้ใช้ส่วนมากก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดการตั้งค่าเหล่านี้ ไม่ใช่เพียง facebook เท่านั้น network อื่น ๆ อย่างเช่น Google+, LinkedIn ก็มีลักษณะคล้ายกันในการที่ทำให้สิทธิส่วนบุคคลถูกคุกคามเช่นกัน

Search Engine – Google

“Google” ที่เพิ่งได้รับการบัญญัติเป็นคำกริยานี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างรู้ดีว่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการค้นหาข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพมาก ยิ่งสำหรับคนที่มีความรู้ ความชำนาญในการใช้ Google แล้ว จะยิ่งสามารถค้นหาข้อมูลได้อย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะมีเครื่องมือมือให้เลือกใช้ เช่น ประเภทข้อมูล, ช่วงระยะเวลาของข้อมูล, แผนที่ ฯลฯ แล้ว หากคุณรู้จักเทคนิคการใช้คำสั่งพิเศษของ Google จะยิ่งช่วยให้คุณสามารถหาข้อมูลได้ตรงตามความต้องการได้อย่างรวดเร็ว เพราะ Google มีการสืบค้นและจัดเก็บข้อมูลชนิดที่แม้แต่ข้อมูลนั้นไม่เคยถูกเปิดเผยผ่านหน้าหน้าเว็บสาธารณะมาก่อนก็ตาม ขอเพียงแค่ข้อมูลนั้นไม่ถูกควบคุมรักษาความปลอดภัยอย่างสูงนัก Google ก็สามารถส่งสมุนที่เรียกว่า robot ไปอ่านแล้วคัดลอกมาเก็บไว้แสดงให้นักค้นหาได้แน่ ดังนั้น หากคุณไปแสดงตัวไว้ที่ไหนก็ตามในโลกอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ข้อมูลของคุณที่อยู่กับหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม Google ยินดีพาคนอื่น ๆ ไปรู้จักได้หมด

โลกใบนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ดีพร้อมไปทั้งหมดถึงแม้ Google จะเป็นเพื่อนที่แสนดีที่คอยช่วยเหลือเราให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ทำให้สิทธิส่วนบุคคลของเราถูกคุกคามเหมือนกัน

ส่งท้าย

บทความนี้ ไม่ได้เขียนขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร เพราะผู้เขียนเองก็ต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการประกอบอาชีพเช่นกัน เพียงแต่มีความคิดว่า “สิทธิบุคคล” เป็นสิทธิและสมบัติของเฉพาะตัวบุคคลที่ได้รับมาตั้งแต่กำเนิด แต่กลุ่มบุคคลหนึ่งกลับอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารมาคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของคุณ และขอฝากข้อคิดไว้ว่า หากคุณต้องการรักษาสิทธิส่วนบุคคลนี้ไว้ ขอให้ศึกษารายละเอียดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ของแต่ละช่องทางที่คุณต้องการใช้อย่างละเอียด เพื่อช่วยให้สิทธิส่วนบุคคลของคุณถูกคุกคามน้อยที่สุดเท่าที่คุณจะรักษาไว้ได้

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


Menu