ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์พึงระวัง: ความพยายามในการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ การใช้ Smartphone เป็นที่นิยมและเรียกได้ว่าเป็นการจำเป็นในสังคมนักธุรกิจที่ต้องใช้ในการติดต่อสื่อสาร บางบริษัทถึงขั้นจัดซื้อ BlackBerry ให้แก่พนักงานเพื่อใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างกันในองค์กร แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กมัธยม คนวัยทำงาน หรือแม้แต่ผู้สูงอายุก็มักจะพกพา Smartphone ไม่เพียงแค่เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ในการใช้โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันกลับเน้นไปในการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแหล่งห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าหลายร้านให้บริการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ทั้งแอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเองได้ฟรี และแอพพลิเคชั่นที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ประเทศไทยนั้นมีปัญหาในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มานาน ซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการค้าของไทยกับคู่ค้าต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันภาครัฐได้มีการตื่นตัวในประเด็นนี้และเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง

โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ได้จัดแถลงผลการดำเนินงานและนโยบายการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย พ.ศ. 2555/2556 โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมแถลงข้อมูลคือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการ และโฆษกของ บก.ปอศ. แถลงว่า ในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา บก.ปอศ. ได้ทำการตรวจค้นองค์กรธุรกิจ 182 แห่งทั่วประเทศ พบการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ 4,573 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 447.85 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2554 บก.ปอศ. ได้ตั้งเป้าลดอัตราการละเมิดจากร้อยละ 72 ให้เหลือร้อยละ 70 และในปี พ.ศ. 2556 นี้ตั้งเป้าให้เหลือร้อยละ 68 ทั้งนี้ บก.ปอศ.หวังว่าประเทศไทยจะได้รับการถอนชื่อออกจากบัญชีดำของอเมริกาที่เรียกว่า US Special 301 Report ที่จัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ใน Priority Watch List หรือรายชื่อประเทศที่ต้องระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 5 ปีแล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้คุ้มครองงานที่มีลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์ให้มีขอบเขตการคุ้มครองที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันร่างกฎหมายได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะมีการบังคับใช้ได้ภายในปี พ.ศ. 2556 นี้

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ภาครัฐให้ความสนใจเป็นพิเศษดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ครอบคลุมเฉพาะซอฟต์แวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่รวมถึงในโทรศัพท์มือถือ Smartphone ซึ่งปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปัจจุบันยังปรากฏในรูปแบบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในหน้าจอโทรศัพท์มือถืออีกด้วย

ที่มา: Mavens of London


Menu